Font Size

SCREEN

Profile

Layout

Direction

Menu Style

Cpanel

ชื่อหน่วยงาน

        ภาควิชานิติเวชศาสตร์,  คณะแพทยศาสตร์

Department of Forensic Medicine,  Faculty of Medicine 

ประวัติความเป็นมา ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มศว

            มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ทำข้อตกลงร่วมกับกรมตำรวจ ในโครงการผลิตแพทย์ของมหาวิทยาลัย      ศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2529 โดยเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2530 ทั้งนี้ กรมตำรวจได้มอบหมายให้โรงพยาบาลตำรวจและสถาบันนิติเวชวิทยา ดำเนินการจัดการเรียนการสอนแก่นิสิตแพทย์ โดยได้จัดตั้งภาควิชานิติเวชศาสตร์ ณ อาคารสัจธรรมชั้น 5 สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ บุคลากรส่วนใหญ่เป็นข้าราชการตำรวจ ประกอบด้วย แพทย์ เภสัชกร นักวิทยาศาสตร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์พิเศษจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยาดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ ได้จัดการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 รายวิชา FM 401 (นิติเวชศาสตร์) โดยอาจารย์พิเศษเดินทางจากสถาบันนิติเวชวิทยามาสอนที่วชิรภาพ และต่อมาย้ายมาสอนที่ศูนย์การแพทย์ฯ 1 สัปดาห์ และชั้นปีที่ 5 รายวิชา FM 521 (นิติเวชศาสตร์ปฏิบัติการทางคลินิก) สอนที่สถาบันนิติเวชวิทยา 2 สัปดาห์ 

         วันที่ 13 ก.ค. 2549 อาจารย์ประจำได้กลับมาปฏิบัติงานที่ศูนย์การแพทย์ฯ 2 ท่าน คือ อ.พญ.วรัทพร  สิทธิจรูญ และ อ.พญ.ศิรินทร์ บุษยามานนท์ ได้จัดตั้งสำนักงานภาควิชาขึ้นที่ภาควิชาพยาธิวิทยา ศูนย์การแพทย์ฯ ชั้น 3 และชั้นใต้ดิน โดยความอนุเคราะห์ของหัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา (รศ.ดร.รัชนี อัศวรุ่งนิรันดร์) ผศ.พญ.นันทนา ชุมช่วย อ.นพ.สมดี รัตนวิบูลย์ และ รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล ให้ใช้ห้องธุรการพยาธิเป็นสำนักงานภาควิชา รวมทั้งอนุเคราะห์เจ้าหน้าที่ วัสดุ ครุภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ ห้องทำงาน โต๊ะทำงาน เตียงผ่าศพ และเครื่องมือผ่าศพ นอกจากนี้ อ.พญ.นันทนาฯ ยังเป็นที่ปรึกษาในการจัดตั้งโครงการบริการทางนิติเวชศาสตร์ทั้ง 3 โครงการ คือ โครงการบริการตรวจผู้ป่วยคดี โครงการบริการการตรวจชันสูตรพลิกศพ และโครงการบริการการผ่าชันสูตรศพ 

จากการปรึกษาหารือกับหัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสต์ ซึ่งในขณะนั้นคือ พล.ต.ต.ณรงค์ศักดิ์ เสาวคนธ์ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา เรื่องแผนการปฏิบัติงานของภาควิชา สรุปว่า การทำงานของอาจารย์ประจำที่ศูนย์การแพทย์ฯ 2 ปีแรก (2549-2550) จะเป็นการให้บริการการตรวจผู้ป่วยคดีที่ศูนย์การแพทย์ฯ และต้องส่งผู้ช่วยแพทย์นิติเวชไปศึกษาดูงานการผ่าศพ ที่สถาบันนิติเวชวิทยาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ จึงจะสามารถให้บริการผ่าชันสูตรศพได้ สำหรับการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 4 อาจารย์พิเศษจะยังดำเนินการสอนนิสิตแพทย์ที่ศูนย์การแพทย์ฯ และในชั้นปีที่ 5 อาจารย์พิเศษดำเนินการสอนที่สถาบันนิติเวชวิทยา จนกระทั่งมีมติการประชุมดำเนินงานศูนย์การแพทย์ฯ อนุมัติให้ดำเนินการตามโครงการที่ภาควิชาที่เสนอ 3 โครงการดังกล่าว ภาควิชาจึงเปิดรับธุรการภาค 1 ตำแหน่ง และผู้ช่วยแพทย์นิติเวช 2 ตำแหน่ง เป็นพนักงานรายวัน การปฏิบัติงานของภาควิชาในเบื้องต้นเป็นไปอย่างทุลักทุเล เต็มไปด้วยปัญหาที่ต้องแก้ไขในแต่ละวัน ท่านคณบดีในสมัยนั้น รศ.นพ.อรุณวงศ์ เทพชาตรี และ รศ.นพ.วุฒิชัย ธนาพงศธร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ฯ คณะผู้บริหารและคณาจารย์ ได้ให้โอกาส คำแนะนำ และกำลังใจในการพัฒนาภาควิชา รวมทั้งความช่วยเหลือจากเลขานุการคณะ คุณนัทรี แสงทองกมล และ หัวหน้าสำนักอำนวยการ คุณชัชวาล พรธาดาวิทย์ เป็นอย่างดีเสมอมา

            เดือนกรกฎาคม 2549 ภาควิชาถูกย้ายไปที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินด้านหลัง ประกอบด้วย ห้องตรวจผู้ป่วยคดีและสำนักงานภาควิชา อย่างละ 1 ห้อง โดยเริ่มเปิดให้บริการตรวจผู้ป่วยคดีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2549 ให้บริการตรวจผู้ป่วยคดี และตรวจชันสูตรพลิกศพ ณ สถานที่ที่พบศพ ทุกวันราชการ มีการอยู่เวรนอกเวลาราชการจนถึงเวลา 24.00 น. ของทุกวัน มีเขตรับผิดชอบหลัก 3 ตำบล ของอำเภอองครักษ์ มีการออกตรวจชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรองครักษ์ ซึ่งดำเนินการได้เป็นอย่างดี ต่อมาผู้ช่วยแพทย์นิติเวชกลับจากการศึกษาดูงานที่สถาบันนิติเวชวิทยา ภาควิชาจึงได้เริ่มเปิดให้บริการผ่าชันสูตรศพในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 และสามารถขยายงานบริการจนเป็นที่ยอมรับของชุมชน ต่อมาได้ย้ายสำนักงานภาควิชาไปยังห้องยานอกเวลา ที่อยู่ตรงข้ามกับแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โดยเป็นห้องตรวจผู้ป่วยคดี และสำนักงานภาควิชา นอกจากนี้ อาจารย์ประจำยังมีภาระงานด้านการบริการวิชาการ โดยร่วมสอนในหลักสูตรของภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาเรื่องการตรวจผู้ถูกละเมิดทางเพศเป็นหลัก เป็นวิทยากรสอนบรรยายตามคำเชิญจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร และร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานของคณะแพทยศาสตร์ และมหาวิทยาลัย

         เดือนกรกฎาคม 2550 มีอาจารย์ประจำกลับมาปฏิบัติหน้าที่เพิ่มอีก 2 ท่าน ได้แก่ อ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี และ อ.นพ.ปิยะ ดุรงคเดช ภาควิชาได้ขยายงานบริการการตรวจผู้ป่วยคดี และการตรวจชันสูตรพลิกศพ โดยแพทย์นิติเวชสามารถปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถขยายพื้นที่การตรวจชันสูตรพลิกศพ และผ่าชันสูตรศพเพิ่มขึ้น ในด้านการเรียนการสอน ภาควิชาสามารถจัดการเรียนการสอนชั้นปีที่ 4 รายวิชา นว 401 (FM 401) ที่ศูนย์การแพทย์ฯ โดยเริ่มในปีการศึกษา 2550 (มกราคม 2551) จนถึงปัจจุบัน สำหรับการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 5 ยังสอนที่สถาบันนิติเวชวิทยาเช่นเดิม โดยมีอาจารย์ประจำเป็นผู้ควบคุมดูแล ในเวลานั้น มีอาจารย์ประจำ 1 ท่าน คือ อ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ลาศึกษาต่อหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาอณูวิทยา ณ คณะแพทยศาสตร์ มศว เป็นเวลา 1 ปี

         ปีการศึกษา 2552 วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 คณบดี รองคณบดีฝ่ายวิชาการ หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ รองหัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ และอาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ ได้ประชุมปรึกษาหารือกัน เรื่องการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 รายวิชา นว 521 (FM 521) เพื่อปรับเปลี่ยนการการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเกณฑ์ภาระงานอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย สรุปผลการประชุม ให้มีการเรียนการสอนภาคทฤษฎีที่ศูนย์การแพทย์ฯ โดยอาจารย์ประจำ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และการเรียนการสอนภาคปฏิบัติที่สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเวลา 1 สัปดาห์เดือนกรกฎาคม 2552 มีอาจารย์ประจำกลับมาปฏิบัติงานเพิ่มอีก 1 ท่าน คือ อ.นพ.อภิชัย แผลงศร ภาควิชาได้จัดการเรียนการสอนปีที่ 4 และปีที่ 5 ภาคทฤษฎี ที่ศูนย์การแพทย์ฯ อย่างสมบูรณ์โดยเริ่มในปีการศึกษา 2552 รอบที่ 2 เป็นต้นมาเดือนธันวาคม 2554 นายแพทย์ปิยะ ดุรงคเดช ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเมื่อวันที่  5 มีนาคม 2555 มีอาจารย์มาบรรจุเพิ่ม 1 ท่าน คือ นายแพทย์วาทิตต์  รุจิราวรรณ  รวมมีแพทย์นิติเวชปฏิบัติงานจำนวน 5 คน

        ปัจจุบัน ภาควิชานิติเวชศาสตร์มีอาจารย์ประจำ จำนวน 5 ท่าน ได้จัดการเรียนการสอนรายวิชา นว 401 จำนวน 1 หน่วยกิต จัดขึ้นที่ศูนย์การแพทย์ฯ โดยอาจารย์ประจำ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และ รายวิชา นว 521 จำนวน 2 หน่วยกิต จัดที่ศูนย์การแพทย์ฯ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และสถาบันนิติเวช โดยอาจารย์พิเศษ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ในปีการศึกษา 2556มีอาจารย์นิติเวชมาร่วมสอน สังกัดศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ โรงพยาบาลชลประทาน คือ นพ.ยุตติ อมรเลิศวัฒนา ในรายวิชา นว 401 และ รายวิชา นว 521 ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 แพทย์หญิงวรัทพร สิทธิจรูญ หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ ได้ครบวาระดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาค  ภาควิชาจึงได้ประชุมและเสนอชื่อ แพทย์หญิงศิรินทร์ บุษยามานนท์ เป็นหัวหน้าภาคคนปัจจุบัน โดยได้รับการแต่งตั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2557


รายชื่อหัวหน้าภาควิชาในอดีตถึงปัจจุบันดังนี้    
                                            

1. พล.ต.ต.นพ.ไพฑูรย์ หลิมรัตน์ พ.ศ. 2529 – 2531

2. พล.ต.ท.นพ.ประเวศ คุ้มภัย พ.ศ. 2531 – 2533

3. พล.ต.ต.นพ.ทัศนะ       สุวรรณจูฑะ พ.ศ. 2533 – 2538

4. พล.ต.ต.นพ.วิชิต     สมาธิวัฒน์ พ.ศ. 2538 – 2546

5. พล.ต.ท.นพ.เลี้ยง หุยประเสริฐ พ.ศ. 2546 – 2548

6. พล.ต.ต.ณรงค์ศักดิ์     เสาวคนธ์ พ.ศ. 2548 – 2552

7. ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล พ.ศ. 2552 – 2553 (รักษาราชการแทน)

8. แพทย์หญิงวรัทพร สิทธิจรูญ พ.ศ. 2553 – 2557

9. แพทย์หญิงศิรินทร์ บุษยามานนท์ พ.ศ. 2557 – วันที่ 17 พ.ย.2558

10. นพ.อภิชัย แผลงศร 
วันที่ 17 พ.ย. 2558- ปัจจุบัน

 

 

Page 2 of 2